8074 จำนวนผู้เข้าชม |
" ตั้งแต่ทำกิจกรรมมา 9 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่เครียดและไม่กดดัน "
" บางกิจกรรมเคยเล่นแล้ว แต่ครั้งนี้ สนุกที่สุด "
เสียงสะท้อนจากลูกค้า ทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า
อะไรคือความแตกต่างที่จะทำให้กิจกรรม สนุก และประสบความสำเร็จมากที่สุด ?
เคล็ดลับ มีเพียงคำง่ายๆ 2 คำ คือ "สุข" และ "ผ่อนคลาย"
ในการจัดกิจกรรม Team Building ผู้นำกิจกรรมต้องทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน และแสดงพฤติกรรมที่เป็นธรรมชาติออกมา เพราะการแสดงตัวตนออกมาจะทำให้เห็นถึง "วิธีที่แต่ละคนปฏิบัติต่อผู้อื่นเมื่อทำงานร่วมกัน"
ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่ออยู่ในสภาวะกดดัน เครียดและไม่ปลอดภัย เราจะไม่แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติออกมา ผลที่ตามมาคือการไม่เปิดใจยอมรับ รู้สึกขัดฝืน และต่อต้าน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีผลทำให้กระบวนการการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ล้มเหลวได้
ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของนักกิจกรรมที่พบบ่อยในการจัดกิจกรรมคือ มักใช้"การทำโทษ" เป็นเครื่องมือ เช่น ให้เต้น หรือ แสดงอาการที่ทำให้เกิดความรู้สึกอาย (การเต้น ไม่ใช่สิ่งผิด แต่ต้องไม่สร้างให้เกิดความรู้สึกทางลบ หากอยากให้ผู้ร่วมกิจกรรมเต้น ต้องเป็นการเต้นที่เกิดจากความรู้สึกสนุก และยินดีทำด้วยความเต็มใจ)
ดังนั้น นักกิจกรรมที่ดี ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด หมั่นสังเกตผู้เข้าร่วมกิจกรรม สร้างให้เกิดบรรยากาศที่สนุก สบาย ผ่อนคลาย มีความสุข เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน กล้าทำความรู้จักเพื่อนใหม่ที่ไม่คุ้นเคย หากทำได้แบบนี้ถือว่า "ประตูแห่งการเรียนรู้ได้เปิดออกมาแล้ว"
แล้ว "แรงกดดัน"ที่ลูกค้าท่านนั้นบอกกับผมว่าเจอมาตลอด 9 ครั้ง ที่จัดกิจกรรม มีสาเหตุจากอะไร?
ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่สนุกนะครับ แต่เป็นความสนุกที่ไม่สุด สาเหตุที่เกิดแรงกดดันบางอย่างขึ้นระหว่างกิจกรรม มาจากการสร้างบรรยากาศ เมื่อคนหลายคนรวมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มพัฒนาเป็นทีม ความรู้สึกเป็นพวกพ้องเกิดขึ้น หากผู้จัดกิจกรรม เร่งให้เกิดการแข่งขันที่มากจนเกินพอดี จะนำไปสู่ " ความต้องการชนะ " ที่สร้าง "แรงกดดัน "และนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างทีมได้ คงไม่ดีแน่ถ้ากิจกรรมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในองค์กรจะทำให้เกิด "สงครามขนาดเล็ก"ขึ้นในกิจกรรม
สิ่งที่ควรทำให้เกิดในการจัดกิจกรรมสร้างทีม คือ ความรู้สึกอยากผสานความร่วมมือ ใช้การแข่งขันเป็นแรงเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง การถ่ายทอดทักษะความสามารถของแต่ละคน ไม่รู้สึกผิดเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ร่วมกันยอมรับผล และพร้อมที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด สิ่งหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่ถ้ากระบวนการกิจกรรมสร้าง"ประสบการณ์" ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นผลซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาในกิจกรรมแล้ว ย่อมนำไปสู่ความต้องการเปลี่ยนแปลงและขจัดพฤติกรรมที่ไม่ดีออกไป กิจกรรมก็จะกลายเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการสะท้อนตัวตนเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น
หากเรามองหาวิธีสร้างองค์กรแห่งความสุข วิธีทำงานเพื่อสร้างสุข สิ่งที่ต้องเริ่มคือ รอยยิ้มและความสุขจากความร่วมมือระหว่างกัน และแน่นอนกิจกรรมที่ดีที่สุดในการสร้างองค์กรเช่นนี้ ก็ต้องใช้เสียงหัวเราะ และความสนุกเป็นพลังในการขับเคลื่อนนั่นเอง
"มาร่วมสร้างกิจกรรมยุคใหม่ ที่อุดมไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสุข และสาระประโยชน์ด้วยกันนะครับ"
เครดิตบทความ : นายพันรัก