ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรมและสัมมนาในองค์กร

9234 จำนวนผู้เข้าชม  | 

                                          


     
   
ปัจจุบันองค์กรต่างๆล้วนให้ความสนใจในการจัดกิจกรรมอบรม สัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะพนักงานในองค์กรอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ การอบรมเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในหน่วยงาน การทำงานเป็นทีม ซึ่งการอบรมสมัยใหม่นี้วิทยากรมักนำรูปแบบการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมมาใช้ผสมกับเนื้อหาภาคบรรยายมากขึ้น โดยรวมแล้วข้อดีของการจัดกิจกรรมมีอยู่มากมาย เช่น ผู้อบรมสนุกสนานไม่น่าเบื่อ และถ้ากิจกรรมละลายพฤติกรรมทำได้ดี พฤติกรรมของผู้อบรมในกิจกรรมอื่นๆจะออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและทำให้วิทยากรสามารถดึงเอาพฤติกรรมเหล่านั้นมาสรุปให้ตรงกับเนื้อหาที่จะสรุปได้เข้าใจง่าย ที่สำคัญผู้เข้าอบรมจะเข้าใจเนื้อหาที่สรุปมากขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม

            ทั้งนี้เพราะกิจกรรมคือแบบจำลองหนึ่งของงานจริง สมาชิกทุกคนมีเป้าหมาย มีจุดประสงค์ มีบทบาทหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกันให้สำเร็จ หากกระบวนการจัดการกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรมสามารถทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเห็นภาพงานในกิจกรรมเทียบกับภาพงานจริงที่ต้องพบเจอได้ เนื้อหาที่สรุปก็จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของผู้เข้ารับการอบรม และมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงลบในการทำงานร่วมกับผู้อื่นลงได้ 

            ในฐานะที่ทำงานด้านการฝึกอบรมและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมมานาน ผมค้นพบว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมลักษณะนี้เพื่อใช้ในการฝึกอบรม สัมมนา อยู่พอสมควร ซึ่งเราจะได้มาไล่เรียงและตอบคำถามในบทความนี้กันทีละหัวข้อ ดังนี้




                1. กิจกรรมพวกนี้เน้นเพียงความสนุกสนาน ทะลึ่งตึงตัง หาสาระไม่ได้ 
           
            
              ปัจจุบัน ความเข้าใจในกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรมมีมากขึ้น เราจึงพบคำถามนี้ของผู้เข้าอบรมน้อยมาก 

              
"อบรมเหรอ...ไม่อยากไปเลย คงมีแต่กิจกรรมให้ออกมาเต้น มาทำอะไรที่ไม่อยากทำ ...." 


              ที่คิดแบบนี้ เพราะประสบการณ์เดิมในการทำกิจกรรมไม่ค่อยดี กิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตจึงถูกประเมิน ถูกตัดสินไปก่อนแล้ว                  
              ปัจจุบันกระบวนการสร้างการฝึกอบรมผ่านกิจกรรมก็ยังดำเนินไปด้วยความสนุกสนานเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน (เช่นเดียวกับการทำกิจกรรมสมัยเข้าค่ายพักแรม หรือ รับน้องใหม่มหาวิทยาลัย) แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือถ้าเป็นการใช้กิจกรรมเพื่อการฝึกอบรมแล้ว เราใช้ความสนุกเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมผ่อนคลาย ไม่เกร็ง และกล้าแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองออกมาในการทำความรู้จักผู้อื่น ในการเสนอแนะ ในการร่วมเล่นกิจกรรม โดยความสนุกนั้นจะต้องไม่หยาบโลน ทะลึ่ง ข้อสำคัญทุกการวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรมถูกออกแบบมาให้สอดคล้องและรองรับต่อเนื้อหาการฝึกอบรมและมีการสรุปกิจกรรมทุกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นช่วงของกิจกรรม ต่างกับการทำกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัยที่มุ่งสร้างความสนุกสนานและสานสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องเพียงอย่างเดียว


        

                  2. จัดกิจกรรมไปแล้ว ได้ประโยชน์จริงหรือ?

                ต้องบอกตามตรงว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่อาหารฟาสฟู้ดที่สั่งปุ้บได้ปั๊บ  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยระยะเวลา เราไม่สามารถแก้พฤติกรรมทางลบที่เกิดขึ้นซ้ำๆได้ในเวลาสั้นๆเพียง 3 หรือ 5 วัน ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติได้ พฤติกรรมเดิมๆก็จะกลับมา พึงระลึกเสมอว่าการใช้กิจกรรมเป็นกระบวนการหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ใหม่ สร้างข้อมูลใหม่เพื่อเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ซึ่งหากต่อเนื่องและยาวนานพอย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางบวกในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างแน่นอน 




                 
3. รูปแบบกิจกรรมซ้ำซาก เหมือนเดิมทุกปี


              ปัจจุบันได้มีการพัฒนา แตกแขนงกิจกรรมออกไปมากจนสามารถจัดได้หลากหลายและสามารถประยุกต์ได้ตามความเหมาะสมของคน วัย และสถานที่จัดงานอีกด้วย




            แม้กิจกรรมจะไม่ใช่ยาครอบจักรวาลในการจัดสัมมนา แต่การขาดหายไปของกิจกรรมก็ทำให้บรรยากาศบางอย่างขาดหายไปจากการสัมมนา มิตรภาพ รอยยิ้ม และความสนุกสนานสามารถสอดแทรกและเติมเต็มเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการสัมมนาได้ เพื่อเป็นเครื่องปรุงให้การจัดสัมมนาในครั้งนั้นกลมกล่อมยิ่งขึ้น และเพื่อให้กิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์และสอดรับไปกับเป้าหมายการจัดงาน ควรเลือกใช้บริการจากทีมกิจกรรมที่มีประสบการณ์และสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมได้ตรงกับองค์กรของท่านมากที่สุด


                                                                                                                                                                                                                                                                       
                                                                         เครดิตบทความ : นายพันรัก




 


           

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้